ติดต่อเรา 0-2561-3480 กด 3

  • ประวัติความเป็นมา
  • ประวัติความเป็นมา
  • ประวัติความเป็นมา
  • ประวัติความเป็นมา
  • ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

          แต่เดิมภาควิชาประวัติศาสตร์มีฐานะเป็นหมวดวิชาหนึ่งที่เปิดสอนในภาควิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 ต่อมาภาควิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้ยกฐานะเป็นคณะสังคมศาสตร์เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2517 และได้มีการดำเนินการจัดตั้งภาควิชาต่างๆ ของคณะขึ้น สาขาวิชาประวัติศาสตร์ได้รับการจัดตั้งเป็นภาควิชาร่วมกับสาขาวิชาภูมิศาสตร์ภายใต้ชื่อ ภาควิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ซึ่งจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรแยกกันมาตลอดตั้งแต่ปีการศึกษา 2518-2519 โดยผลิตบัณฑิตทั้งสองปริญญา คือ ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) และปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ภูมิศาสตร์) ในด้านการเรียนการสอนอาจารย์ในแต่ละสาขาวิชาต่างแยกกันปฏิบัติงานเป็นเอกเทศมาเป็นระยะเวลา 10 ปี  ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งเป็นภาควิชาประวัติศาสตร์ขึ้น โดยบรรจุโครงการแยกภาควิชาประวัติศาสตร์ออกจากภาควิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) สภามหาวิทยาลัยเห็นชอบในหลักการดังกล่าวและให้ดำเนินการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2527 ทางคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 โดยออกพระราชกฤษฎีกาอนุมัติให้แยกภาควิชาเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2528 และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2528

 
ลักษณะของวิชาประวัติศาสตร์

     เป็นการศึกษาทำความเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศและภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างเป็นองค์รวม โดยใช้วิธีการเรียนการสอนที่เน้นให้นิสิตฝึกฝนการอ่าน เขียน คิด โต้แย้ง เปรียบเทียบ และค้นคว้าวิจัยทางประวัติศาสตร์ในหัวข้อต่างๆ ทั้งจากกรอบวิธีคิดแบบภูมิภาคศึกษาที่พิจารณาลักษณะเฉพาะของภูมิภาคต่างๆ อย่างละเอียดและกรอบการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์เฉพาะประเด็นที่มุ่งเน้นบางมิติ เช่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ความคิด และประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้นิสิตเข้าใจกรอบวิธีคิดเชิงโครงสร้างของประวัติศาสตร์โลกและอารยธรรมของโลกไปพร้อมๆกัน

     ผู้สำเร็จการศึกษา สามารถประกอบอาชีพได้ทุกวงการโดยไม่จำกัดเฉพาะแต่ในหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เช่น การเป็นนักวิชาการ นักวิจัย และครูอาจารย์ในกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ แต่ยังสามารถเข้าทำงานในธุรกิจภาคเอกชนที่ต้องใช้องค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ในการประกอบกิจการได้แทบทุกสาขาธุรกิจ เช่น ธุรกิจการเงินและธนาคาร ธุรกิจสื่อสารมวลชน ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจพาณิชย์อื่นๆ ทั่วไป